บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รายงานการพัฒนาความสามารถทางคณิตศาสตร์และความคงทนในการเรียนรู้โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาล 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ชื่อเรื่อง               รายงานการพัฒนาความสามารถทางคณิตศาสตร์และความคงทนในการเรียนรู้
                              โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาล 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี)
                              อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา
ผู้รายงาน             นางสุนันทา  ธรรมโชติ        ครูชำนาญการโรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี)
                              อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา

บทคัดย่อ

                        รายงานการพัฒนาความสามารถทางคณิตศาสตร์และความคงทนในการเรียนรู้โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาล 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) อำเภอหาดใหญ่  จังหวัดสงขลา ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หาประสิทธิภาพของนิทานเชิงคณิตศาสตร์ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เปรียบเทียบความสามารถทางคณิตศาสตร์ระหว่างกลุ่มที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์กับกลุ่มที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบปกติของเด็กอนุบาล 3 3) เปรียบเทียบความสามารถทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์ของเด็กอนุบาล 3  4) เปรียบเทียบความสามารถทางคณิตศาสตร์ก่อนและหลังการจัดประสบการณ์แบบปกติของเด็กอนุบาล 3 และ 5) เพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนรู้ระหว่างการได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์กับการได้รับการจัดประสบการณ์แบบปกติ ของเด็กอนุบาล 3 หลังการจัดประสบการณ์ล่วงไปแล้ว 4 สัปดาห์  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กอนุบาลอายุระหว่าง 5-6 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2554 ของโรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จำนวน 2 ห้องเรียน รวม 62 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบสองขั้นตอน (Two-Stage Random Sampling)
                        เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) นิทานเชิงคณิตศาสตร์ ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว จำนวน 30 เรื่อง 2) แผนการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเชิง-คณิตศาสตร์ จำนวน 35 แผน 3) แผนการจัดประสบการณ์แบบปกติ จำนวน 35 แผน และ 4) แบบวัดความสามารถทางคณิตศาสตร์ จำนวน 19 ข้อ ซึ่งมีค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง .39 ถึง .74 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบค่าที (t - test)
                        ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

                        1. นิทานเชิงคณิตศาสตร์มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 88.97/81.23
                        2. เด็กอนุบาล 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์มีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงกว่าเด็กอนุบาล 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
                        3. เด็กอนุบาล 3/3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลังได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์มีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
                        4. เด็กอนุบาล 3/1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลังได้รับการจัดประสบการณ์แบบปกติมีความสามารถทางคณิตศาสตร์สูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
                5. เด็กอนุบาล 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเชิงคณิตศาสตร์ หลังการจัดประสบการณ์ล่วงไปแล้ว 4 สัปดาห์ มีความคงทนในการเรียนรู้สูงกว่าเด็กอนุบาล 3 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น